วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

การยิ้ม


ยิ้มเปรียบเสมือนภาษาสากล ไม่ ว่าคนเราจะเดินทางไปไหน ณ มุมไหนของโลก หรืออยู่ในสถานที่ที่มีข้อกีดขวางทางวัฒนธรรมและภาษา ยิ้มสามารถใช้เป็นภาษาที่สื่อสารและเข้าใจง่ายมากที่สุด เป็นภาษาที่ไม่ต้องการคำอธิบาย ไม่ต้องอาศัยเวลาเล่าเรียน ฝึกฝน เพราะทุกคนต่างเข้าใจความหมายแง่บวกที่สื่อออกไปแน่นอน



วัฒนธรรมการแต่งกายของคนไทย


การแต่งกายของไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติที่เป็นของตนเองมาเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะไทย มารยาทไทย ภาษาไทย อาหารไทย และชุดประจำชาติไทย
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีคุณค่า มีความงดงามบ่งบอกถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็น "ไทย" ที่นำความภาคภูมิใจมาสู่คนในชาติ 
           การแต่งกายของไทยโดยเฉพาะในยุครัตนโกสินทร์ซึ่งมีอายุยาวนานมากกว่า 200 ปีนั้น ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ

นับตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนกลาง ยุคเริ่มการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ ยุค "มาลานำไทย" และ จนปัจจุบัน "ยุคแห่งเทคโนโลยีข่าวสาร"  แต่ละยุคสมัยล้วนมีรูปแบบการแต่งกายที่เป็นของตนเองซึ่งไม่อาจสรุปได้ว่า แบบใดยุคใดจะดีกว่า หรือ ดีที่สุด เพราะวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม ล้วนต้องมีการปรับเปลี่ยนบูรณาการไปตามสิ่งแวดล้อมของสังคมแล้วแต่สมาชิกของสังคมจะคัดสรรสิ่งที่พอเหมาะพอควรสำหรับตน พอควรแก่โอกาส สถานที่และกาลเทศะ






วัฒนธรรมการกินของคนไทย


วัฒนธรรมอาหารการกินของคนไทย
  
 สภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลองหลายสายไหลผ่าน 
จึงเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวชั้นเลิศแห่งหนึ่งของโลก ชีวิตคนไทยในอดีตล้วนผูกพันกับสายน้ำ อีกทั้งยังมี 
ชายฝั่งทะเลเหยียดยาวทั้งด้านอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน อันเป็นแหล่งอาหารประเภทปลานานาชนิด 
ซึ่งเป็นที่มาของคำพังเพยเปรียบเปรยถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารการกินของไทยว่า 
"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" 
 
 เมื่อสังคมไทยเริ่มติดต่อกับต่างประเทศ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ 
รวมทั้งด้านอาหารการกิน โดยได้รับรูปแบบอาหารบางชนิดมาปรับปรุง ดัดแปลงเป็นรสชาติแบบไทย 
ทำให้เกิดตำรับอาหารใหม่ ๆ มากมาย กลายเป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ

ที่มา
วัฒนธรรมอาหารการกินของคนไทย

การไหว้


การไหว้ เป็นมารยาทไทยที่เป็นสืบทอดกันมาช้านาน การไหว้เป็นการแสดงถึงความมีสัมมาคารวะ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความหมายเพื่อการทักทาย การขอบคุณ การขอโทษ หรือการกล่าวลา โดยยกมือสองข้างประณม นิ้วชิดกัน ปลายนิ้วจรดกัน ยกมือขึ้นในระดับต่าง ๆ ตามฐานะของบุคคล และเมื่อมีผู้ทำความเคารพด้วยการไหว้ ให้ทำการรับไหว้ทุกครั้ง การรับไหว้ใช้ประณมมือแค่อก แล้วยกขึ้นเล็กน้อย ก้มศีรษะ
คำที่มักจะกล่าวในขณะที่ไหว้เพื่อทักทายหรือกล่าวลานั้นคือ คำว่า สวัสดี มาจาก พระยาอุปกิตศิลปสาร หรือ นิ่ม กาญจนาชีวะ ซึ่ง"สวัส" แปลว่าก้าวหน้า รวมแล้วจึงแปลว่า "ขอให้เจริญรุ่งเรือง"

ลิเก


ลิเก เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า ลิเก เพี้ยนมาจากคำว่า ซิเกร์ ในภาษาเปอร์เซีย ที่ยืมมาจากคำว่า ซิกรุ (Zakhur) ในภาษาอาหรับ อันหมายถึงการอ่านบทสรรเสริญเป็นการรำลึกถึงอัลลอหฺพระเจ้าในศาสนาอิสลาม พระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์ก็ได้กล่าวถึงลิเกไว้[1] ว่า พวกมุสลิมนิกายชีอะห์ หรือเจ้าเซ็นจากเปอร์เซีย นำสวดลิเกที่เรียกว่า ดิเกร์ เข้า มาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[2] กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรง บันทึกว่า ยี่เกนั้น เพี้ยนมาจาก จิเก
มีบันทึกว่า พวกแขกเจ้าเซ็นได้สวดถวายตัวในการบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2423 ต่อมาคิดสวดแผลงเป็นลำนำต่าง ๆ คิดลูกหมดเข้าแกมสวด ร้องเป็นเพลงต่างภาษา และทำตัวหนังเชิด โดยเอารำมะนาเป็นจอก็มี ลิเกจึงกลายเป็นการเล่นขึ้น ต่อมามีผู้คิดเล่นลิเกอย่างละคร คือ เริ่มร้องเพลงแขก แล้วต่อไปเล่นอย่างละครรำ และใช้ปี่พาทย์อย่างละคร

ชนิดของลิเก

  1. ลิเกบันตน เริ่มด้วยร้องเพลงบันตน(เพี้ยนจาก ปันตน)เป็นภาษามลายู ต่อมาก็แทรกคำไทยเข้าไปบ้าง ดนตรีก็ใช้รำมะนา จากนั้นก็แสดงเป็นชุด ๆ ต่างภาษา เช่น แขก ลาว มอญ พม่า ต้องเริ่มด้วยชุดแขกเสมอ ผู้แสดงแต่งตัวเป็นชาติต่าง ๆ ร้องเอง พวกตีรำมะนาเป็นลูกคู่ มีการร้องเพลงบันตนแทรกระหว่างการแสดงแต่ละชุด
  2. ลิเกลูกบท คือ การแสดงผสมกับการขับร้องและบรรเลงเพลงลูกบท ร้องและรำไปตามกระบวนเพลง ใช้ปี่พาทย์ประกอบแทนรำมะนา แต่งกายตามที่นิยมในสมัยนั้นๆ แต่สีฉูดฉาด ผู้แสดงเป็นชายล้วน เมื่อแสดงหมดแต่ละชุด ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลง 3 ชั้นที่เป็นแม่บทขึ้นอีก และออกลูกหมดเป็นภาษาต่าง ๆ ชุดอื่น ๆ ต่อไปใหม่
  3. ลิเกทรงเครื่อง เป็นการผสมผสาน ระหว่างลิเกบันตนและลิเกลูกบท มีท่ารำเป็นแบบแผน แต่งตัวคล้ายละครรำ แสดงเป็นเรื่องยาวๆ อย่างละคร เริ่มด้วยโหมโรงและบรรเลงเพลงภาษาต่างๆ เรียกว่า "ออกภาษา" หรือ "ออกสิบสองภาษา" เพลงสุดท้ายเป็นเพลงแขก พอปี่พาทย์หยุด พวกตีรำมะนาก็ร้องเพลงบันตน แล้วแสดงชุดแขก เป็นการคำนับครู ใช้ปี่พาทย์รับ ต่อจากนั้นก็แสดงตามเนื้อเรื่อง ลิเกที่แสดงในปัจจุบันเป็นลิเกทรงเครื่อง
  4. ลิเกป่า เป็นศิลปะการแสดงที่เคยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและ จังหวัดทางภาคใต้ทั่ว ๆ ไป แต่ในปัจจุบันลิเกป่ามีเหลืออยู่น้อยมาก ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เดิมลิเกป่าจะมีแสดง ให้ดูทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นบวชนาค งานวัด หรืองานศพ ลิเกป่ามีเครื่องดนตรีประกอบการแสดง 3 อย่าง คือ กลองรำมะนา 1-2 ใบ ฉิ่ง 1 คู่ กรับ 1 คู่ บางคณะอาจจะมีโหม่ง และทับด้วย ลิเกป่ามีนายโรงเช่นเดีวกับหนังตะลุง และมโนราห์ และโร สำหรับการแสดงก็คล้ายกับโรงมโนราห์ ผู้แสดงลิเกป่า คณะหนี่งมีประมาณ 6-8 คน ถ้ารวมลูกคู่ด้วยก็จะมีจำนวนคนพอ ๆ กับมโนราห์หนึ่งคณะ การแสดงจะเริ่มด้วยการโหมโรง "เกริ่นวง" ต่อจากเกริ่นวงแขกขาวกับแขกแดงจะออกมาเต้นและร้องประกอบ โดยลูกคู่จะรับไปด้วย หลังจากนั้นจะมีผู้ออกมาบอกเรื่อง แล้วก็จะเริ่มแสดงเลย


โขน



โขน-ไม่น่าจะมีกำเนิดมาจากการละเล่นอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว(อย่างที่เคยอธิบายกันสืบมาว่าโขนมีกำเนิดมาจากชักนาคดึกดำบรรพ์ หรือโขนมีกำเนิดมาจากหนัง เป็นต้น) แต่โขนควรเป็นการละเล่นซึ่งก่อรูปขึ้นมาจากประเพณีหลายๆ อย่างที่มีอยู่ก่อนแล้วคือหนัง ระบำ รำเต้น ชักนาคดึกดำบรรพ์ และ ฯลฯ ให้รวมเข้าด้วยกันแล้วกลายเป็นสิ่งใหม่เรียกชื่อว่า"โขน"
         แม้บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะยกย่องชื่อ "ทวารวดี"จากมหากาพย์รามายณะและมหาภารตะมาเป็นชื่อบ้านเมืองและแว่นแคว้น แต่ก็มิได้หมายความว่าชนชั้นสูงยกย่องศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูไว้สูงสุด เพราะพุทธศาสนามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
 
         แท้จริงแล้วทั้งพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูมีบทบาทสำคัญประสมประสานอยู่ด้วยกันดังกรณีเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีและเมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี ล้วนมีศาสนวัตถุสถานที่เนื่องในพุทธและพราหมณ์อยู่พร้อมๆ กันมาตั้งแต่ยุคแรกรับแบบแผนจากอินเดีย และยังมีระบบความเชื่อดั้งเดิมคือผีอยู่ด้วย
 
         เมื่อมีระบบความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาย่อมเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่ผู้เป็นใหญ่ในสังคมนั้นๆ จะต้องจัดให้มีการละเล่นเพื่อเสริมความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ให้ระบบความเชื่อนั้นๆ เพราะฉะนั้นบ้านเมืองที่ยกย่องคติรามายณะ ก็ควรจะมีการละเล่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์ (ถือเป็นชื่อพื้นเมือง) แม้ว่าระบบความเชื่อในยุคแรกๆ จะยังปะปนกันระหว่างพุทธกับพราหมณ์ (หรือจะเรียกฮินดูก็ตามที) และผี แต่ลักษณะผสมดังกล่าวก็มิได้เป็นอุปสรรคที่จะจัดให้มีการละเล่น

         น่าเชื่อว่ามีการละเล่นที่เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อ เช่น รามเกียรติ์หรือมหาภารตะเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วตั้งแต่ยุคทวารวดี เพราะชื่อบ้านเมืองว่าทวารวดีมีความศักดิ์สิทธิ์มาจากมหากาพย์ 2 เรื่องนี้
         แต่ก็น่าเสียดาย เพราะยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการละเล่นดังกล่าว ที่พอจะเห็นร่องรอยความต่อเนื่องบ้างก็คือความเชื่อตามคติ 
"จักรพรรดิราช" ในราชสำนักเขมร ซึ่งแสดงออกในพระราชพิธี "อินทราภิเษก" เช่น สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
(พ.ศ.1656-หลัง พ.ศ.1688 และเชื่อว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เกี่ยวดองเป็นวงศ์ญาติกับกษัตริย์ราชวงศ์มหิธรปุระแห่งลุ่มน้ำมูลละแวกพิมาย-พนมรุ้งในเขตอีสานใต้)
 

การชักนาคกวนน้ำอมฤตหรือกวนเกษียรสมุทรน่าจะเป็นการละเล่นมหึมาอยู่ในราชสำนักพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เพราะมีภาพสลักเรื่องนี้อยู่ที่ปราสาทนครวัด และมีความสืบเนื่องมาเป็นการละเล่นอยู่ในราชสำนักสยามในลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลชื่อ "ชักนาคดึกดำบรรพ์"ในพระราชพิธีอินทราภิเษกซึ่งยกย่องว่าเป็นแบบแผนที่พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยายุคแรกๆ จัดให้มีขึ้น

         หลังสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 แล้ว พระราชพิธีอินทราภิเษก ที่มีการละเล่นเกี่ยวข้องกับชักนาคดึกดำบรรพ์มิได้จัดให้มีขึ้นทุกรัชกาล เท่าที่มีบันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจะมีประมาณ 3 ครั้ง คือในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ครั้งหนึ่ง ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิครั้งหนึ่ง และในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอีกครั้งหนึ่ง (ความจริงอาจมีมากกว่านี้ แต่ก็ไม่ทุกรัชกาล)

         หลังแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้วไม่พบร่องรอยการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์อีกเลย แต่มีชื่อ 
"โขน" เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
         เรื่องที่เล่นโขนมาจากรามายณะของอินเดีย เมื่อไทยรับรามายณะฉบับทมิฬ-อินเดียใต้มาแล้วจึงเรียกภายหลังว่ารามเกียรติ์

    โขน-เป็นการละเล่นที่ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ.2034-2072) กับแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172-2199) เพราะเมื่อถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ โขนที่เคยศักดิ์สิทธิ์อยู่ในราชสำนักก็กลายเป็นมหรสพเล่นอยู่ในโรงเพื่อต้อนรับอัครราชทูตลาลูแบร์เรียบร้อยแล้ว
 




หนังตะลุง


หนังตะลุง คือ ศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นอย่างหนึ่งของภาคใต้ เป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ "ว่าบท" มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม ซึ่งการว่าบท การสนทนา และการแสดงเงานี้ 25นายหนังตะลุงเป็นคนแสดงเองทั้งหมด
หนังตะลุงเป็นมหรสพที่นิยมแพร่หลายอย่างยิ่งมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในยุคสมัยก่อนที่จะมีไฟฟ้าใช้กันทั่วถึงทุกหมู่บ้านอย่างในปัจจุบัน หนังตะลุงแสดงได้ทั้งในงานบุญและงานศพ ดังนั้นงานวัด งานศพ หรืองานเฉลิมฉลองที่สำคัญจึงมักมีหนังตะลุงมาแสดงให้ชมด้วยเสมอ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป หนังตะลุงกลับกลายเป็นความบันเทิงที่ต้องจัดหามาในราคาที่ "แพงและยุ่งยากกว่า" เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ เพราะการจ้างหนังตะลุงมาแสดง เจ้าภาพต้องจัดทำโรงหนังเตรียมไว้ให้ และเพราะหนังตะลุงต้องใช้แรงงานคน (และฝีมือ) มากกว่าการฉายภาพยนตร์ ค่าจ้างต่อคืนจึงแพงกว่า ยุคที่การฉายภาพยนตร์เฟื่องฟู หนังตะลุงและการแสดงท้องถิ่นอื่นๆ เช่น มโนราห์ รองแง็ง ฯลฯ ก็ซบเซาลง ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคที่ทุกบ้านมีโทรทัศน์ดู ละครโทรทัศน์จึงเป็นความบันเทิงราคาถูกและสะดวกสบาย ที่มาแย่งความสนใจไปจากศิลปะพื้นบ้านเสียเกือบหมด
ปัจจุบัน โครงการศิลปินแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงให้แก่อนุชนรุ่นหลัง เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ให้คงอยู่สืบไป